อนาคตของนกฟ้าทวิตเตอร์ จะเป็นยังไงหลังรีแบรนด์เป็น ‘X’
top of page

อนาคตของนกฟ้าทวิตเตอร์ จะเป็นยังไงหลังรีแบรนด์เป็น ‘X’



การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชั่วพริบตาของ Twitter โซเชียลมีเดียทรงอิทธิพล


เป็นที่ถกเถียงและฮือฮากันอย่างมากทั้งออฟฟิศ เมื่อไอคอนนกฟ้าแสนน่ารักในโทรศัพท์มือถือค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นไอคอนรูปตัวอักษร ‘X’ พื้นหลังสีดำทีละคนๆหลังจากที่ประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนแบรนด์ขนาดใหญ่ที่ทั้งรวดเร็ว และมีรูปแบบ “ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง” แบบที่แทบไม่เคยเห็นแบรนด์อื่นใดบนโลกใบนี้ทำแบบนั้น !!!

ว่าแล้วก็ทำให้นึกย้อนไปเมื่อปี 2006 ที่เราเริ่มรู้จัก Twitter เป็นครั้งแรกด้วยโลโก้ที่ใช้ชื่อบริษัทเป็นตัวอักษรสีน้ำเงินตัดกับพื้นหลังสีขาว ดูเรียบง่ายและสะอาดตา ด้วยฟอนต์ที่ดูโค้งนุ่มละมุน ดูเป็น App วัยรุ่นในยุคนั้นโดยแท้



ต่อมาในปี 2010 Twitter ได้ออกแบบโลโก้เป็นนกสีฟ้าขึ้นมาใช้ควบคู่ไปกับตัวอักษรเดิม เติมความสนุกสนาน และความอิสระเสรีเข้าไป จนทำให้ในปี 2012 ที่ทวิตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์ม Social Media หลักของโลกที่เข้าถึงคนจำนวนมาก แล้วได้ตัดสินใจลบชื่อบริษัทออกจากโลโก้ เพื่อให้ภาพนกดูมีพลังและสื่อความหมายได้ชัดเจนมากขึ้น คือ ความอิสรภาพและความเป็นไปได้ไม่รู้จบ


ในแง่ของแบรนด์ผมว่า โลโก้ตัวนี้ของ Twitter ที่แม้จะดูน่ารัก สดใส แต่ว่าทรงพลังในการนำเสนอคุณค่า (Value) ของผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก เพราะถ้าถามผู้ใช้ 9 ใน 10 คนก็จะบอกว่าใช้ Twitter เพราะความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงที่ไม่ถูกปิดกั้นใดๆ โดยเฉพาะในแง่ของการออกความเห็นต่าง อีกทั้งยังเป็น Community ของคนที่ชอบอะไรเหมือนกันมาสนทนากันโดยไม่ต้องรู้จักอะไรกันมาก เป็นการสนทนาในวงกว้างขนาดที่เกิดดราม่าตีกันข้ามประเทศได้ระหว่างติ่งหรือด้อมทั้งหลาย (แม้จะพูดกันคนละภาษาด้วยซ้ำ)


ก็คงเหมือนนกที่เราเห็นว่ามันก็บินโฉบไปมาอย่างอิสระ ส่งเสียงร้องใส่กันโดยที่อาจจะต่างสายพันธุ์กันด้วยซ้ำ บางทีผมนั่งมองนกอยู่นานก็แอบสงสัยว่ามันกำลังสื่อสารกันอยู่ หรือต่างฝ่ายแค่อยากจะส่งเสียงร้องของตัวเองออกมา โดยไม่ได้สนใจเสียงนกของอีกฝ่ายด้วยซ้ำ…



การเข้ามาของ Elon Musk


ท่ามกลางสงครามของ Social Media ที่แย่งชิงเวลาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือของลูกค้ากันอย่างหนักหน่วง อยู่ดีๆ Elon Musk เศรษฐีระดับโลกก็เข้ามาซื้อกิจการ Twitter แบบที่ทำให้คนทั้งโลกงุนงง เพราะว่าดูแล้วสภาพของ Twitter ไม่น่าจะสร้างผลกำไรให้ได้สักเท่าไหร่ แล้วเขาซื้อทำไม


ด้วยความที่ Musk เป็นผู้ใช้ตัวยงของ Twitter อยู่แล้ว จากที่มีคนติดตามอยู่มากมายหลายล้านคน และการทวิตแต่ละครั้งของเขาก็สร้างความสั่นสะเทือนไม่ใช่น้อย ถึงขั้นที่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ สั่งห้ามมัสก์ไม่ให้ทวีตเกี่ยวกับกิจการของ Tesla หลังจากทวีตหนึ่งของเขาทำราคาหุ้นสูญหายไป 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แถมชอบทะเลาะกับชาวบ้านบนนั้น (แว่วๆว่าจะวางมวยกับ Mark Zukerberg เร็วๆนี้)


เขาบอกว่าไม่ได้คิดที่จะทำเงินจาก Twitter แต่อยากจะเติมเต็ม ‘ศักยภาพที่ไม่ธรรมดา’ เข้าไป และต้องการเห็น ‘เสรีภาพในการพูด’ มากขึ้นอีก !!!


ผมเองก็ยังไม่เข้าใจว่าเสรีภาพมากกว่าที่เป็นอยู่นี้คือขนาดไหน…


แต่เหตุผลแค่นั้นคงไม่มากพอที่จะทำให้ใครสักคนใช้เงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการสักแห่งอย่างแน่นอน เห็นด้วยไหมครับ



การเปลี่ยนแปลง Twitter จากนกสีฟ้ามาเป็นตัว ‘X’


เค้าว่าคนเรามักจะมีความชอบ หรือฝังใจกับอะไรสักอย่าง นี่ก็คงเป็นเหตุผลเฉกเช่นเดียวกับที่ Elon Musk คลั่งไคล้ในตัวอักษร ‘X’ ตั้งแต่ตอนที่เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์ x.com ในฐานะธนาคารออนไลน์เมื่อปี 1999 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น PayPal และต่อมาในปี 2017 ก็ได้ขอซื้อคืนจาก Paypal ด้วยเหตุผลว่าชื่อนี้นั้นมีคุณค่าทางจิตใจ


ไหนๆก็ซื้อมาแล้ว ก็รีแบรนด์ตัวเองให้เป็นรูปตัวอักษร ‘X’ ทั้งหมด ทั้งชื่อบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของเขา รวมไปถึงแพลตฟอร์ม Twitter ที่เขาครอบครองอยู่ ซึ่งล่าสุดเขาได้ให้รายละเอียดว่า เป็นการปรับธุรกิจไปสู่แพลตฟอร์มที่กว้างขึ้นสำหรับการสื่อสาร และการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นแอปพลิเคชัน “ที่ทำได้ทุกอย่าง”



The Everything ​App.

ผมเองก็ยังไม่แน่ใจกับคำว่า “ทำได้ทุกอย่าง” ของเขาจะทำได้แค่ไหน อะไรบ้าง แต่ในมุมของผลิตภัณฑ์มันก็ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มันก็คงไม่สามารถใช้นกฟ้าตัวนี้สื่อสาร “คุณค่า” ขององค์กรได้อีกต่อไป เพราะที่นี่คงไม่ใช่สถานที่แค่เข้ามาเมาท์มอยพูดคุยกันเหมือนเดิม มันจึงต้องการสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อสารความเสรีขึ้นไปอีกระดับ นัยยะของตัว X นั่นค่อนข้างที่จะลึกลับอยู่แล้ว ผนวกเข้ากับสีดำทะมึน ในรูปทรงที่เรียบขรึม ก็ทำให้ Branding ของ ‘X’ นั้นดูตีความได้หลายแบบมาก


จากการสอบถามความเห็นรอบตัวปริมาณหนึ่ง แน่นอนหลายคนไม่ชอบ เพราะติดกับ Branding นกฟ้าที่เคยชิน บ้างก็รู้สึกว่าเรียกยาก ดูซ้ำซ้อนกับอย่างอื่น (ในญี่ปุ่นจะใช้ X Japan ไม่ได้เพราะไปขัดกับวงดนตรีที่เป็นยิ่งกว่าศาสดาของคนญี่ปุ่น) ฯลฯ อีกหลายความเห็น


แต่ที่น่าสนใจคือบางความเห็นรู้สึกได้ว่าโลโก้ ‘X’ นั้นให้ความรู้สึกถึงความยุติธรรมทางสังคมบางอย่างที่ต่างไปจากโลกความเป็นจริง ซึ่งฟังดูน่าสนใจว่าอาจจะใกล้เคียงกับสิ่งที่ Musk พยามอยากให้มันเป็นในอนาคต


ผมว่าการรีแบรนด์ Twitter ครั้งนี้ไม่ได้ผิดอะไร เพราะการเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์ และผู้อยู่รอด คือ ผู้ที่ปรับตัว อาจจะผิดตรงที่มันเกิดขึ้นเร็วจนไม่ทันตั้งตัว ไม่คิดว่า Musk จะทำจริง และขาดการสื่อสารสู่ผู้คนไปสักหน่อย


แต่นั่นแหละ...


Change Happens All The Time.

เราจึงต้องเปลี่ยนตัวเอง

ก่อนที่จะโดนผู้อื่นบังคับให้เปลี่ยน


ในหลายครั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป และการรีแบรนด์ของทวิตเตอร์ก็เป็นภาพแทนอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นความจริงข้อนี้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อย่ากลัวที่จะต้องเปลี่ยน The Collective พร้อมจะเป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงงาน ออกแบบภายใน ตกแต่งภายใน ไปจนถึงการ Renovate Office เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกข้างหน้าอย่างมั่นใจไปพวกเรา


========================


อัปเดตและติดตามข่าวสารของพวกเราได้ที่


bottom of page