Squid game งานดีไซน์ฉากที่เราประทับใจ
top of page

Squid game งานดีไซน์ฉากที่เราประทับใจ


Squid game ซีรีย์ดังที่สร้างกระแสอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ที่ใครหลายคนคงได้ดูกันไปแล้ว นอกเหนือจากเรื่องราวที่กดดัน ตื่นเต้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราสนใจติดตามดูและชอบมากคือ "ฉาก" ในเรื่องนี่เอง ที่นอกจากจะสวย ดูมี Artistic แตกต่างจากเรื่องอื่นๆทั่วไปแล้ว แต่ละฉากยังมีการสื่อสาร และเต็มไปด้วยปริศนาประเด็นต่างๆมากมาย วันนี้เลยอยากมาเล่าแลกเปลี่ยนในจุดที่ชอบกัน


เริ่มกันเลย!


"ห้องนอน"


ห้องนอนในซีรี่ย์ Squid Game ไม่ได้เป็นเพียงแค่ห้องนอนสำหรับไว้นอนยามเหนื่อยจากเกมเท่านั้น แต่กลับแฝงไปด้วยความหมายด้วยความตั้งใจจากผู้ออกแบบฉาก เรารู้สึกว่าห้องนอนของผู้เล่นถูกออกแบบให้เหมือนกับ

โกดังเก็บของ

นั่นหมายความว่าสถานที่นี้เป็นที่สำหรับสิ่งของที่นำออกมาใช้งาน และทำลายทิ้งได้ เหมือนกับผู้เล่นที่เป็นเพียงหมากในเกมที่มีหน้าที่ทำตามคำสั่งที่บอก และแม้ว่าแต่ละคนจะมาจากต่างที่ต่างถิ่นกัน แต่ก็ถูกนำมาใส่ชุดเหมือนกัน มีเตียงนอนและอุปกรณ์ต่างๆเท่าเทียมกัน


"เตียง"


เตียงในเรื่องนี้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นเหมือนขั้นบันได เพื่อเปรียบถึงโลกทุนนิยมที่ใครๆก็พยายามปีนขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดให้ได้ และยังสอดคล้องถึงรูปแบบของเกมที่เป็นการแข่งขันอีกด้วย เป็นเตียงนอนที่ทำให้ทุกคนสามารถนอนมองลูกบอลที่เก็บเงินอยู่ด้านบนได้ เพื่อไฝ่ฝันให้ได้มา


"บันไดวงกต"


ก่อนที่ผู้เล่นจะเล่นเกมใดๆจะต้องเดินผ่าน "บันไดวงกต" ซึ่งบันไดนี้เห็นปุ๊บก็รู้ได้เลยว่าาได้แรงบันดาลใจรูปแบบมาจากภาพบันไดของ Escher (ศิลปินแนว Surrealism ที่ชอบเขียนภาพที่ดูหลอกสายตาดูไม่มีที่สิ้นสุด) เพิ่มเติมคือสีสันที่ใส่เข้าไป เป็นตการออกแบบฉากที่ดี เพราะว่าสื่อให้เรารู้สึกว่าเดินไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะไปโผล่ออกที่ไหน หนีไปไหนก็ไม่ได้


ลานเกม A-E-I-O-U


ฉากแรกของการเล่นเกม ที่สร้างความน่าสนใจให้เรา นั่นก็คือลานกว้างที่เป็นสถานที่เล่นเกม A-E-I-0-U พื้นที่นี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์วางเรียงล้อมรอบเพื่อให้เกิดเป็นพื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมพร้อมเปิดหลังคาให้เห็นท้องฟ้าภายนอก ทำให้ผู้เล่นไม่ได้รู้สึกระแวงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นแม้นิดเดียว


การเล่นเกมที่ดูเด็กๆ แต่ยิงกันจริงๆจังๆ ทำให้เกิด Contrast ขึ้นมาในการดำเนินเรื่อง เชื่อว่าหลายคนคงอึ้งๆเมื่อดูถึงฉากนี้ และการสร้างคาแรคเตอร์เด็กผู้หญิงมัดผมแกละ 2 ข้างยืนอยู่ซึ่งได้เเรงบันดาลใจมาจากเด็กในตำราเรียนของเกาหลีขึ้นมา ก็กลายเป็นภาพจำอย่างหนึ่งของซีรีส์ขึ้นมา


และนอกจากนี้ยังแอบมีการใบ้ถึงเกมสุดท้ายด้วยสัญลักษณ์ของ Squid game นั่นก็คือกิ๊ฟบนผมหน้าม้าของเด็กหญิง เป็นการใบ้ว่าเมื่อถึงเกมสุดท้ายอย่าง Squid Game ก็จะกลับมาเล่นในฉากนี้อีกครั้งนั่นเอง


"ห้องสนามเด็กเล่น"


ฉากแกะขนมน้ำตาล จะเห็นว่ารอบตัวของผู้เล่นเต็มไปด้วยเครื่องเล่นหลากหลายที่เป็นความทรงจำในวัยเด็กเพียงแต่ว่าขนาดของมันใหญ่กว่าปกติเท่านั้นเอง ซึ่งแน่นอนนี่เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของผู้ออกแบบที่อยากจะให้ผู้เล่นเหมือนย้อนเวลากลับไปสู่วันเด็ก โดยการเพิ่มเสกลของเครื่องเล่นให้ใหญ่ขึ้นให้ดู "Overscale" เราจะรู้สึกได้ว่าผู้ใหญ่ตัวเล็กลงจนกลายเป็นเด็กอีกครั้งนึง


จะเห็นได้ว่าการออกแบบสัดส่วนและการใช้สเกลที่ต่างจากปกติ ทำให้เกิดภาพที่ต่างไปได้เลย


"ห้องสีขาว"


ในซีรีย์เรื่องนี้จะใช้ห้องหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสีขาวทั้งห้อง ซึ่งห้องนี้จะถูกใช้งานก็ต่อเมื่อผู้เล่นต้องเลือกบางสิ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมทีมหรือลำดับการเล่น ลักษณะของห้องนี้แม้จะเป็นสีขาว แต่ดูแล้วกลับสร้างความรู้สึกกังวล ตั้งใจให้ผู้เล่นรู้สึกไม่สบายใจ แสดงให้เห็นว่า Space สีขาวนี่แหละที่ทำให้เกิดความโล่งจนกดดันผู้ที่อยู่ อารมณ์สถานบำบัดจิตที่ผ่านตามาในหนังเรื่องอื่นๆ


"ลานชักเย่อ"


ห้องที่ใช้สำหรับเกมชักเย่อเป็นอีกห้องที่น่าสนใจ เมื่อทางผู้ผลิตซีรี่ย์ได้ออกแบบโดยการเล่นกับระยะความสูงและสเกลให้ลานชักเย่อมีความสูงที่ค่อนข้างสูงและขนาดลานชักเย่อที่ไม่ใหญ่มาก เพื่อช่วยให้นักแสดงได้สัมผัสและแสดงออกถึงความกลัวแล้วความรู้สึกของตัวละครได้อย่างเต็มที่มากขึ้น และด้วยฉากที่ดำมืดมีเพียงสะพานอยู่ 2 ฝั่ง ก็เป็นการเน้นเส้นสายของทิศทางการเคลื่อนไหวของตัวละครได้เป็นอย่างดี


"สะพานกระจก"


อีกหนึ่งฉากที่เป็นที่จดจำในเรื่องนี้ ในฉากมีการทำสะพานกระจกขึ้นมาและให้ผู้เล่นได้เดาว่ากระจกฝั่งไหนหากกระโดดไปแล้วจะไม่แตก เป็นฉากนึงที่ชอบนะ เป็นการสร้างบรรยากาศโรงละคร Circus ขึ้นมา


อ่านพบมาว่า เบื้องหลังได้มีการทำสะพานกระจกไว้ถึง 2 รูปแบบ ในแบบที่สูงจริงตรงตามในซีรี่ย์ กับอีกแบบที่สูงจากพื้นเพียงแค่ 1 เมตรเท่านั้น เป็นความสูงที่อาจจะตกลงมาได้แต่ไม่เป็นอันตรายและยังส่งผลให้นักแสดงสามารถแสดงความรู้สึกกลัวออกมาจากทางสีหน้าได้อีกด้วย


"เกมลูกแก้ว"


เกมลูกแก้วหรือที่เรียกกันว่า "กันบู" เป็นฉากที่มัคนพูดถึงกันมากอีกหนึ่งฉากเลยล่ะ เพราะในเนื้อเรื่องฉากนี้ค่อนข้างบีบหัวใจของใครหลายๆคน นอกจากนี้ยังสร้างบรรยากาศโดยรอบให้เป็นหมู่บ้านเกาหลีในยุค 70-80 เพื่อให้ตัวละครได้ระลึกถึงวัยเด็กที่เล่นกับเพื่อนแถวบ้าน ทำให้เราเองก็นึกถึงสมัยเด็กที่เล่นกับเพื่อนๆแถวๆบ้านเหมือนกัน


ฉากนี้เป็นฉากที่ดูต่างจากตอนอื่นๆตรงที่ทำให้ดูเป็นบรรยากาศที่อบอุ่น ไม่แข็ง หรือเวิ้งว้างแบบตอนอื่นๆ แต่้ทายที่สุดกลับสร้างความรู้สึกเจ็บปวดได้มากกว่าตอนอื่นๆเยอะเลย


"ภาพใบ้เกมบนผนัง"


เบื้องหลังเตียงจำนวนมากภายในห้องนอนของผู้เล่น มีภาพใบ้เกมต่างๆแอบซ่อนไว้ เมื่อเกมดำเนินต่อไปเรื่อยๆด้วยจำนวนผู้เล่นที่ลดลงทำให้จำนวนเตียงถูกลดลงด้วย ภาพต่างๆที่ถูกเตียงบดบังไว้จึงค่อยๆเผยออกมาทีละนิด เหมือนเกมต่างๆที่ถูกเฉลยออกมาเรื่อยๆตามลำดับของเกมนั่นเอง


แหม จริงๆไล่ดูแต่ละมุมก็รู้ทางรอดกันแล้ว...


 

ส่วนตัวเราชอบใน Art Direction ของซีรี่ส์เรื่องนี้นะ มีการออกแบบองค์ประกอบศิลป์ในฉากต่างๆได้น่าสนใจดี ส่วนเนื้อเรื่องก็มีบางจุดที่รู้สึกขัดๆกับความรู้สึกเล็กน้อยในตอนท้าย แต่ก็ไม่เป็นไรความชอบของแต่ละคนก็ต่างกันไปนะ


และทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เรารู้สึก และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่ผู้ออกแบบฉากต่างๆใน Squid game ซึ่งการออกแบบสิ่งใดก็ตาม หากสามารถส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ได้ ก็ถือว่าการออกแบบนั้น "Complete" แล้วล่ะ


The Collective Studio Co., Ltd.

Architecture & Interior Design

www.ctstu.com

Tel. 094 442 4652


ติดตามข่าวสารและเรื่องราวที่น่าสนใจของพวกเราได้ที่นี่

bottom of page