ในยุคที่มนุษยชาติกำลังยืนอยู่บนเส้นแบ่งของความเปราะบางระหว่างการอยู่รอด และการพังทลายของธรรมชาติ Bangkok Art Biennale 2024 นำเสนอแนวคิด Nurture Gaia ซึ่งมองโลกในฐานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง ทั้งระบบนิเวศ วัฒนธรรม และมนุษยชาติ แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนหันกลับมาสำรวจความสัมพันธ์ที่เรามีกับธรรมชาติ และตั้งคำถามว่าเรายังดูแลโลกใบนี้ได้ดีพอหรือไม่+++
จากเทพนิยายสู่รากฐานทางวิทยาศาสตร์: เมื่อโลกพูดกับเรา
เทพี Gaia ผู้ให้กำเนิดชีวิตในตำนานกรีกไม่ได้เป็นเพียงภาพตัวแทนของธรรมชาติ หากแต่เป็นตัวแทนของความสมดุลและความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างทุกชีวิตบนโลก ความเชื่อเรื่องแม่ผู้ให้กำเนิดนี้ปรากฏอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม เช่น Prithvi ในศาสนาฮินดู หรือ พระแม่ธรณี ในพุทธศาสนา ที่เราคุ้นเคย ซึ่งต่างสะท้อนแนวคิดเดียวกันว่า “โลก” มิได้เป็นเพียงพื้นที่ให้เราอยู่อาศัย หากแต่เป็น ”ชีวิต” หนึ่งที่มีความรู้สึก
ในปี 1979 James Lovelock นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้นำตำนาน Gaia มาปรับใช้ในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยเสนอแนวคิดที่โลก คือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่ระบบนิเวศทั้งหมดทำงานร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว แนวคิดนี้เปลี่ยนมุมมองของมนุษยชาติต่อโลกอย่างสิ้นเชิง แทนที่จะมองโลกว่าเป็นพื้นที่สำหรับการใช้ทรัพยากรและสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์เพียงอย่างเดียว แนวคิดนี้ทำให้เราเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อกัน
และในวันนี้ Gaia กำลังร้องไห้ จากที่เราเห็นภัยพิบัตจากธรรมชาติที่มากขึ้นในทุกปี ทั้งน้ำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว น้ำท่วมแบบฉับพลันในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมท้องฟ้าของเมืองไปจนถึงหิมะบนยอดเขาฟูจิของญี่ปุ่นที่มาช้าที่สุดในรอบ 130 ปี (ซึ่งอาจจะนานที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะก่อนหน้านั้นยังไม่ได้บันทึก) สิ่งเหล่านี้คือคำเตือนว่า หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลง เราอาจไม่มีที่ให้กลับมาหลบภัยอีกต่อไป
ศิลปะที่สะท้อนวิกฤต: เมื่อภาพสะท้อนกลายเป็นคำเตือน
ในปีนี้ Bangkok Art Biennale ดึงดูดศิลปิน 76 คนจาก 39 ประเทศทั่วโลก มาร่วมกันสำรวจประเด็นสิ่งแวดล้อมในมุมมองที่แตกต่างกัน ผลงานแต่ละชิ้นไม่ได้เป็นเพียงความสวยงามทางสายตา แต่ยังเป็นบทสนทนาที่สะท้อนถึงวิกฤตการณ์ร่วมสมัยในผลงานหลายชิ้น เช่น การตั้งคำถามถึงผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทำลายธรรมชาติ
หลายผลงานสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศ เช่น ผลงานของศิลปินชาวบาหลีที่นำเอาเศษแหของชาวบ้านมาถักทอให้เป็นหุ่นที่นำเสนอวัฒนธรรมของชาวบาหลี หรือประติมากรรมหอยที่มีตึกงอกออกมาอยู่บนนั้น จัดแสดงเป็น Gallery แบบในพิพิธภัณฑ์ ที่ดูเป็นวัตถุจัดแสดงที่เป็นของมีค่า
และการนำเสนอมัลติมีเดีย ทีหลาย ๆ งานทำให้เรายืนนิ่งดู และดินไปกับการกระทำบางอย่างในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว เช่นผลงานกองทรายที่มีช้อนปักอยู่บนยอดประกอบกับภาพวิดีโอผู้คนกำลังขุดทรายหาสิ่งของต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่เรื่องราวดูไม่มีอะไรมากแต่ก็ดูแล้วอินไปกับสิ่งที่เค้านำเสนอ
นอกจากเนื้อหาในเรื่องธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมก็ยังมีเรื่องของความเป็นผู้หญิงนำเสนอผ่านงานศิลปะในหลายรูปแบบ
นอกเหนือจากเรื่องธรรมชาติกับมนุษย์ หลายผลงานก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนถึงปัญหาสังคม และการเมืองที่สอกแทรกความสนุกสนาน ปนความจิกกัดเล็ก ๆ น้อย อย่างเช่น ผลงานของ "ปลวก" ที่บอกว่าพวกเรา คือปลวกที่ได้แต่พยักหน้า และดำเนินชีวิตไปตามที่ผู้นำสั่ง และสัตว์ 3 ตัวที่นั่ง ๆ นอน ๆ แบบหมดพลังที่จะต่อสู้กับความเป็นไปในสังคมนี้แล้ว
และเค้าก็จัดกลุ่มของผลงานได้ดีอยู่ หลาย ๆ งานอยู่รวมใน Mood and Tone ที่ต่อเนื่องกันดี มีผลงานที่มีชายนั่งปักผ้าอยู่บนผนัง ที่เป็นเหมือน Life Art ที่ดูงดงามมาก (ยังสงสัยว่าเวลาเค้าจะลงมาเข้าห้องน้ำทำยังไง)
ผลงานหนึ่งของคนไทยที่ดูแล้วก็ทึ่ง ด้วยการนำเอาเศษไม้มาบดแล้วมาโรยให้เป็นตัวหนังสือด้วยวลีที่เอามาจากในหนังสือ "จะนับวันคืนลับไม่กลับคืน" ที่มีบางส่วนพร่าเลือนไป สะท้อนถึงการตัดไม้ที่ป่าของเราค่อย ๆ สลายหายไป (ไม่รู้ถึงตอนจบงานจะเหลืออ่านได้กี่ตัว)
เมื่อศิลปะเปลี่ยนวิธีมองโลก
งาน Bangkok Art Biennale 2024 ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การจัดแสดงงานศิลปะ แต่เป็นการสะท้อนถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่าเรา ที่รวมการนำเสนอเรื่องราวในหลากหลายแง่มุม ภาษา และวัฒนธรรม แต่ก็สามารถส่งต่อความรู้สึกนี้ให้เราได้ เป็นครั้งนึงที่เราได้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ร่วมกัน และหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนในสังคม และช่วยให้เรากลับมาร่วมกันสร้างความสมดุลกับโลกใบนี้อีกครั้ง
แล้วคุณล่ะ พร้อมจะตอบคำถามของ Gaia แล้วหรือยัง?
เริ่มวันที่: 3 ต.ค. 2567 - 25 ก.พ 2568
นอกจากที่หอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานครแห่งนี้แล้ว ยังมีสถานที่จัดงานอีกหลายที่รวม 11 แห่งด้วยกัน ได้แก่
ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์, One Bangkok, Central World, มิวเซียมสยาม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร, วัดบวรนิเวศวิหาร, พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และ หอศิลป์เจ้าฟ้า
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: Bangkok Art Biennale
เรื่องและภาพ: กอบชัย ลิมปนเทวินทร์